กฎหมาย โรงงาน สำหรับผู้ประกอบการ

กฎหมายโรงงานที่ผู้ประกอบการควรรู้

กฎหมายโรงงานที่ผู้ประกอบการควรรู้

โรงงานคืออะไร
- อาคาร สถานที่หรือยานพาหนะ (เช่น เรือดูดทราย)
- ใช้เครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้า หรือใช้คนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป
- เพื่อผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุงแปรสภาพ ลำเลียง เก็บรักษา หรือ ทำลายสิ่งใด ๆ
- ตามประเภทหรือชนิดกิจการที่กำหนดในกฎกระทรวงอุตสาหกรรม 104 ประเภท

โรงงานแบ่งออกเป็น 3 จำพวก

โรงงานจำพวกที่ 1
- เป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 20 แรงม้า ไม่ก่อปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมหรือเหตุเดือดร้อนอันตราย เช่น ฟักไข่โดยใช้ตู้อบ ซ่อมรองเท้า ทำเครื่องหนัง ทำขนมจีน ไอศกรีม
- ไม่ต้องขออนุญาต
- ห้ามตั้งโรงงานในบางพื้นที่
- ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงฯ และประกาศกระทรวงฯ

โรงงานจำพวกที่ 2
- เป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรเกิน 20 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า อาจก่อปัญหามลพาหรือเหตุเดือดร้อนรำคาญเล็กน้อยแก้ไขปรับปรุงได้ไม่ยาก เช่น การขุดลอก กรวด ทราย ดิน การลำเลียงหิน กรวด/ทราย/ดิน ด้วยสายพานลำเลียงโรงงานผลิตน้ำดื่ม ไอศกรีม โรงผลิตน้ำแข็งใช้เครื่องจักร ไม่เกิน 50 แรงม้า
- ไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนทำงาน
- ห้ามตั้งโรงงานในบางพื้นที่
- ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ และประกาศกระทรวงฯ
- เสียค่าธรรมเนียมรายปี

โรงงานจำพวกที่ 3
- เป็นโรงงานที่ไปใช้เครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า อาจก่อให้เกิดปัญหามลพิษหรือเหตุเดือดร้อน รำคาญ หรือเหตุอันตรายต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตกระดาษ โรงงานผลิตสุรา โรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น
- ต้องขออนุญาตก่อนเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจึงตั้งโรงงานได้
- ก่อนดำเนินกิจการต้องแจ้งขอประกอบกิจการก่อน
- ห้ามตั้งโรงงานในบริเวณบางแห่ง
- ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงฯ และประกาศกระทรวงฯ
- เสียค่าธรรมเนียมรายปี
- เสียค่าใบอนุญาตประกอบกิจการ

หมายเหตุ
1. โรงงานจำพวกที่ 1,2,3
- ห้ามตั้งโรงงานในบริเวณบ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัยอาคารชุดพักอาศัยและบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย
2. โรงงานจำพวกที่ 1,2
- ห้ามตั้งโรงงานภายในระยะ 50 เมตร จากเขตติดต่อโรงเรียน สถาบันการศึกษา วัด ศาสนสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน สถานที่ทำงานของหน่วยงานของรัฐ แหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
- ต้องตั้งอยู่ในทำเล และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีบริเวณเพียงพอที่จะประกอบกิจการตามประเภทหรือชนิดของโรงงานโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายเหตุเดือดร้อนรำคาญหรือความเสียหายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย
การประกอบกิจการของโรงงานจำพวกที่ 2
การประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 จะต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนที่จะประกอบกิจการโรงงาน เพื่อขอใบรับแจ้งประกอบกิจการโดยใช้หลักฐานประกอบการขออนุญาต ดังนี้
1. สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลธรรมดา)
2. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ที่ระบุชื่อผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล ที่ตั้งสำนักงาน วัตถุประสงค์นิติบุคคล (กรณีผู้ขออนุญาตเป็นนิติบุคคล)
3. แผนผังแสดงสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณโรงงานขนาดเหมาะสมและถูกต้องตามมาตราส่วน
4. เอกสารอื่นตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

การประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3
การประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ต้องขออนุญาตก่อน เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว จึงจะตั้งโรงงานได้ โดยใช้หลักฐานประกอบการขออนุญาต ดังนี้
1. สำเนาทะเบียนและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีผู้ขออนุญาตเป็นบุคคลธรรมดา)
2. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ที่ระบุชื่อผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล ที่ตั้งสำนักงาน วัตถุประสงค์นิติบุคคล (กรณีผู้ขออนุญาตเป็นนิติบุคคล)
3. แผนผังแสดงสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณโรงงานขนาดเหมาะสมและถูกต้องตามมาตราส่วน
4. แผนผังแสดงการติดตั้งเครื่องจักรขนาดเหมาะสมและถูกต้องตามมาตราส่วน โดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่นที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด
5. แบบแปลนอาคารโรงงานขนาดเหมาะสมและถูกต้องตามมาตราส่วน โดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่นที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด
6. แบบแปลน แผนผัง และคำอธิบายโดยละเอียดแสดงวิธีป้องกันเหตุเดือดร้อนรำคาญ ความเสียหาย อันตราย การควบคุมการปล่อยของเสียมลพิษใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน ทั้งนี้ โดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่นที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด
7. เอกสารอื่น ๆ ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

การขยายโรงงาน
- การเพิ่มจำนวน เปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร ทำให้มีกำลังรวมเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ในกรณีที่เครื่องจักรเดิมมีกำลังรวมไม่เกิน 100 แรงม้า หรือกำลังเทียบเท่าไม่เกิน 100 แรงม้า หรือเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 50 แรงม้า ขึ้นไป ในกรณีเครื่องจักรเดิมมีกำลังรวม เกิน 100 แรงม้า หรือ กำลังเทียบเท่าเกินกว่า 100 แรงม้า
- การเพิ่มหรือแก้ไขส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารโรงงานทำให้รากฐานเดิมของอาคารโรงงานฐานใดฐานหนึ่งต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 500 กิโลกรัม ขึ้นไป
- การขยายโรงงานต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการตั้งตัวเครื่องจักรได้
การโอนใบอนุญาต
ผู้ปะกอบอุตสาหกรรมจะต้องเตรียมเอกสารประกอบคำขอรับโอนกิจการ ดังนี้
1. สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีผู้ขอรับโอนเป็นบุคคลธรรมดา)
2. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่ระบุชื่อผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล ที่ตั้งสำนักงาน วัตถุประสงค์ของนิติบุคคล (กรณีผู้ขอรับโอนเป็นนิติบุคคล)
3. สำเนาสัญญาเช่าหรือเช่าซื้อโรงงาน
4. สำเนาสัญญา ชื้อขายโรงงาน
5. สำเนาหลักฐานการโอนการประกอบกิจการโรงงาน
6. บัญชีทายาท (ในกรณีทายาทมากกว่าหนึ่งคน ให้แสดงหลักฐานที่บรรดาทายาทอื่น ๆ ทุกนามให้ความยินยอม) และสำเนาใบมรณะบัตร
7. หลักฐานแสดงความเป็นผู้จัดการมรดก และสำเนาใบมรณะบัตร
8. สำเนาคำสั่งศาลแสดงว่าเป็นผู้มีสิทธิขอรับโอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

การเลิกประกอบกิจการโรงงาน
ถ้าผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ประสงค์จะเลิกประกอบกิจการต้องดำเนินการ ดังนี้
1. ผู้รับอนุญาตต้องยื่นคำขอและชี้แจงเหตุผลต่อผู้อนุญาต ผู้อนุญาตสามารถมีหนังสือสั่งให้ยกเลิก
2. การเลิกประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันเลิกประกอบกิจการ
3. การเลิกประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 เลิกประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้อนุญาตภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเลิกประกอบกิจการโรงงาน

การดำเนินคดีกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่
เจ้าหน้าที่หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ สามารถสั่งดำเนินคดีกับโรงงานได้ทั้ง 3 จำพวก ถึงแม้ว่า โรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ไม่ต้องขออนุญาตตั้งโรงงานก็ตามนอกจากนั้นกฎหมายใหม่ยังให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจเข้าตรวจโรงงานหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสาร มีอำนาจสั่งแก้ไขปรับปรุงโดยมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิด พ.ร.บ. โรงงาน และที่สำคัญมีอำนาจสั่งให้เปรียบเทียบ โดยคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีได้ โดยไม่ต้องถูกฟ้องร้องต่อศาล
ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานทุกจำพวกไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ประกอบกิจการอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินอาจถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงาน ถูกสั่งปิดโรงงาน กรณีเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 สั่งปิดโรงงานเท่ากับเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตด้วยทันที

โทษทางกฎหมาย
1. กรณีโรงงานจำพวกที่ 2
หากผู้ประกอบกิจการโรงงานดำเนินการโดยไม่แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. กรณีโรงงานจำพวกที่ 3
หากผู้ใดประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต หรือตั้งโรงงาน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ต้องระวางโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การประกอบกิจการโรงงานในระหว่างที่มีคำสั่งหยุดประกอบกิจการหรือภายหลังที่มีคำสั่งประกอบโรงงาน จะต้องระวางโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท และยังต้องถูกปรับรายวันอีก วันละ 5,000 บาท จนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งให้แก้ไขปรับปรุง หรือสั่งให้ระงับการกระทำ หรือให้กระทำใด ๆ ต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับ และต้องถูกปรับรายวัน วันละไม่เกิน 5,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนเช่นกัน

ที่มา :   http://sisaketindus.tripod.com/about/prb4.htm

Message us